วันอังคารที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

บทความทางการศึกษา

“เกมคอมพิวเตอร์และผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในสังคมไทย”

ทำไมเกมคอมพิวเตอร์จึงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์มากนัก? เกมคอมพิวเตอร์เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อเด็กกันแน่? เกมคอมพิวเตอร์นำไปสู่การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชน? หรือนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชน?

บทความนี้มุ่งที่จะตรวจสอบสถานการณ์โดยทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบที่เกมคอมพิวเตอร์มีต่อเด็กและเยาวชนในสังคมไทย เหตุผลที่เลือกเอา“เกมคอมพิวเตอร์”เป็นเป้าหมายของการศึกษา ก็เพราะเกมคอมพิวเตอร์เป็น “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ” อันหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ความเข้าใจในสถานการณ์อันเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์ย่อมจะนำไปสู่ความเข้าใจในปัญหาอื่นๆ ที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศอาจก่อให้เกิดแก่มนุษย์ในสังคม สถานการณ์อันเกี่ยวกับผลกระทบจากเกมคอมพิวเตอร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้มีความชัดเจนในประเทศไทย ก็เพราะเกมคอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก ดังนั้น การจัดการที่ผิดพลาดอาจหมายถึงในประการแรก เป็นการปิดกั้นมิให้สิ่งที่ดีเกิดแก่เด็กและเยาวชนในสังคมไทย หรือในทางกลับกัน อาจหมายความว่า เป็นการละเลยที่จะป้องกันภัยร้ายที่จะเกิดแก่พวกเขาเหล่านั้น
บทความนี้ยังมิใช่บทความเพื่อนำเสนอข้อสรุปของงานวิจัย หากแต่เป็นเพียงบทความที่มีเป้าหมายที่จะนำเสนอรายงานการตรวจสอบสถานการณ์อันเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์ในสังคมไทย ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ผลกระทบของสิ่งนี้ต่อเด็กและเยาวชน และ (๒)แนวคิดและมาตรการเพื่อจัดการผลกระทบดังกล่าว แต่ก็เป็นข้อคิดและข้อสรุปที่ได้จากการทำงานเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาอันเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์ ๒ โครงการ กล่าวคือ (๑)โครงการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีนางสาวมณฑนา สีตสุวรรณ นางสาวสุดารัตน์ แก้วงาม และนายอิทธิพล ปรีติประสงค์ เป็นนักวิจัย และ (๒)โครงการศึกษาผลกระทบของเกมคอมพิวเตอร์ต่อเด็กในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีนายสมา โกมลสิงห์ เป็นนักวิจัย ข้อมูลการวิจัยจากโครงการทั้งสองถูกใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของ ๒ องค์กรอิสระ กล่าวคือ (๑)คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อเด็กและสตรี ซึ่งมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธาน และ (๒)คณะอนุกรรมการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร เป็นประธาน
การตรวจสอบผลกระทบของเกมคอมพิวเตอร์ต่อเด็กและเยาวชนในสังคมไทย
แม้เกมคอมพิวเตอร์จะเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสังคมมนุษย์มาตั้งแต่เกิดพัฒนาการของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในประชาคมโลก แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ก็เพียงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น ที่มีการกล่าวถึงปัญหาผลกระทบของเกมคอมพิวเตอร์ต่อมนุษย์ในสังคมไทยอย่างมาก จนเป็นประเด็นถกเถียงในสาธารณชนถึงโทษและประโยชน์ของสิ่งนี้ต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งน่าจะมีเหตุผล ๕ ประการสำหรับปรากฏการณ์นี้ ซึ่งได้แก่ (๑)โดยเหตุผลทางเทคโนโลยี เกมคอมพิวเตอร์ย่อมมีสถานะเป็น “ของแถมทางเทคโนโลยี” สำหรับมนุษย์ในสังคมไทย (๒)โดยเหตุผลทางธุรกิจ เกมคอมพิวเตอร์มีสถานะเป็น “สินค้าเทคโนโลยี”สำหรับมนุษย์ในสังคมไทย (๓)โดยเหตุผลทางสังคม เกมคอมพิวเตอร์ย่อมมีสถานะเป็น “ชุมชนอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับมนุษย์ในสังคมไทย (๔)โดยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เกมคอมพิวเตอร์ย่อมมีสถานะเป็นโอกาสของรัฐไทยในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ (๕)โดยเหตุผลทางวัฒนธรรม เกมคอมพิวเตอร์ย่อมมีสถานะเป็นโอกาสในการรักษาวัฒนธรรมไทยท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมต่างชาติ
เกมคอมพิวเตอร์ :ของแถมทางเทคโนโลยีสำหรับมนุษย์ในสังคมไทย
สังเกตได้ว่า เกมคอมพิวเตอร์เป็นโปรแกรมที่พบเป็นของแถมมาในคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง เมื่อราคาของคอมพิวเตอร์ได้ถูกลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้โดยทั่วไปสำหรับการเก็บและส่งข้อมูลข่าวสาร มนุษย์ในสังคมไทยจึงมีความคุ้นชินกับคอมพิวเตอร์มากขึ้น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์จึงเข้ามาในชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทยที่ใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น
นอกจากนั้น ในวันนี้ เกมคอมพิวเตอร์ได้ไปปรากฏตัวเป็นของแถมในโทรศัพท์มือถือซึ่งได้กลายเป็นอุปกรณ์การสื่อสารที่มีราคาไม่แพงและเป็นที่นิยมของมนุษย์ในสังคมไทย ปริมาณของมนุษย์ที่คุ้นชินกับเกมคอมพิวเตอร์จึงมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า เกมคอมพิวเตอร์ที่เป็นของแถมในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนั้น อาจมิใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่สนใจมากนัก แต่เป็นสิ่งที่เด็กสนใจมากและได้บริโภคเกมนั้นอย่างจริงจังและหลงใหล จนอาจจะเข้าถึงเกมมากกว่าที่จะเข้าถึงประโยชน์ประการอื่นๆ ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำไป
แหล่งอ้างอิง:
http://www.sci.nu.ac.th/information-it/index.php?topic=7769.msg10648#msg10648
โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และนายสมา โกมลสิงห์ บทความวิจัยเพื่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงสถานการณ์หนึ่งอันกระทบต่อสิทธิของเด็กและเยาวชนในสังคมไทยในปัจจุบัน ( วารสารสิทธิมนุษยชน, ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เมษายน – มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖, น.๖๗ - ๘๑)

ไม่มีความคิดเห็น: